Children's art.

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สร้างจินตนาการด้วยเส้น

การวาดภาพด้วยเส้น เป็นการนำเส้นแบบต่างๆ มาประกอบเพื่อทำให้ภาพมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

ภาพล่างนี้ใช้สีไม้ระบายเป็นพื้นหลังโดยการระบายสีในรูปของการไล่น้ำหนัก โทนสีอ่อน - สีแก่ และใช้สีเมจิกสีดำตัดเส้นเป็นลวดลายต่างๆ หรือจะใช้สีชอล์กก็ได้ เวลาตัดเส้นหรือขีดเส้นเป็นรูปแบบต่างๆ ก็ใช้สีชอล์กที่เป็นสีดำตัดแทนนะคะ


ผลงานของ ด.ญ.ปรายฟ้า คงเมือง (น้องตะวัน)  อายุประมาณ 8 ขวบ




เพราะฉะนัั้นการวาดภาพอะไรนั้นก็ต้องเป็นภาพค่อนข้างใหญ่และต้องการพื้นที่โชว์ลวดลายที่ชัดเจน และภาพที่ออกมานั้นจะดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น สำหรับลายเส้นที่ใช้นั้นก็มี เส้นตรง เส้นเฉียง เส้นแนวนอน เส้นวงกลม เส้นหยัก เส้นซิกแซก เส้นปะก็ได้นะคะ เวลานำมาใช้ก็ดูตามรูปทรงของภาพนั้นๆ เป็นหลัก

เรามาดูภาพที่เกิดจากเส้นต่างๆ เพื่อวัดความเข้าใจเรื่องเส้นมากยิ่งขึ้นตามเนื้อหาด้านล่างในหลักการง่ายๆ นะคะ


ผลงานของ ด.ช.เจตณัฐ สวัสดี (น้องเพลง)  อายุประมาณ 8 ขวบ

       เส้น  คือ ร่องรอยที่เกิดจากเคลื่อนที่ของจุด  หรือถ้าเรานำจุดมาวางเรียงต่อ ๆ กันไปก็จะเกิดเป็นเส้นขึ้นมา  เส้นมีมิติเดียว  คือ  ความยาว ไม่มีความกว้าง ทำหน้าที่เป็นขอบเขตของที่ว่าง รูปร่าง รูปทรง น้ำหนัก  สี   ตลอดจนกลุ่มรูปทรงต่าง ๆ  รวมทั้งเป็นแกนหรือ โครงสร้างของรูปร่างรูปทรง เส้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญของงานศิลปะทุกชนิด เส้นสามารถให้ความหมาย แสดง  ความรู้สึก และอารมณ์ได้ด้วยตัวเอง และสามารถสร้างเป็นรูปทรงต่าง ๆ 

เส้นมี  2  ลักษณะ คือ 
              เส้นตรง   (Straight Line) และ 
              เส้นโค้ง   (Curve Line) 

เส้นทั้งสองชนิดนี้   เมื่อนำมาจัดวางในลักษณะต่าง ๆ กัน จะมีชื่อเรียกต่าง ๆ และให้ความหมาย ความรู้สึก ที่แตกต่างกันอีกด้วย
     

ลักษณะของเส้น    
1. เส้นตั้ง หรือ เส้นดิ่ง  ให้ความรู้สึกทางความสูง  สง่า  มั่นคง  แข็งแรง  หนักแน่น   เป็นสัญลักษณ์   
    ของความซื่อตรง    
2. เส้นนอน ให้ความรู้สึกทางความกว้าง สงบ ราบเรียบ นิ่ง ผ่อนคลาย 
3. เส้นเฉียง หรือ เส้นทะแยงมุม ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหว รวดเร็ว ไม่มั่นคง     
4. เส้นหยัก หรือ เส้นซิกแซก แบบฟันปลา ให้ความรู้สึก คลื่อนไหว อย่างเป็น   จังหวะ  มีระเบียบ  ไม่  
    ราบเรียบ น่ากลัว อันตราย ขัดแย้ง ความรุนแรง     
5. เส้นโค้ง แบบคลื่น ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ ลื่นไหล ต่อเนื่อง สุภาพ  อ่อนโยน นุ่มนวล     
6. เส้นโค้งแบบก้นหอย ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว คลี่คลาย หรือเติบโตในทิศทางที่   หมุนวนออกมา ถ้ามองเข้าไปจะ   เห็นพลังความเคลื่อนไหวที่ไม่สิ้นสุด    
7. เส้นโค้งวงแคบ ให้ความรู้สึกถึงพลังความเคลื่อนไหวที่รุนแรง  การเปลี่ยนทิศทาง   ที่รวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง     
8. เส้นประ ให้ความรู้สึกที่ไม่ต่อเนื่อง  ขาด  หาย  ไม่ชัดเจน  ทำให้เกิดความเครียด


วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สีน้ำกับสมาธิ





สำหรับวันนี้วาดภาพแล้วจะให้ใช้สีน้ำอย่างเดียวคงจะดี  การวาดภาพโดยใช้สีน้ำเด็กเกือบทุกระดับอายุ ส่วนมากชอบหมดค่ะ  มันสนุกไม่ต้องกังวล มันสนุกก็ตรงที่การผสมสีนี่ล่ะค่ะ ผสมแล้วเกิดสีใหม่ๆ เด็กๆจะตื่นเต้นกันมาก เรามาทบ ทวนเรื่องของแม่สีกันหน่อยดีกว่านะค่ะ

แม่สี   คือ สีที่สามารถนำมาผสมแล้วได้สีใหม่ และเป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ
แม่สี   มี 3 สี คือ สีแดง  สีเหลือง  สีน้ำเงิน



สีแดง สีเหลือง สีส้ม        สีเหลือง  สีน้ำเงิน  =  สีเขียว       สีน้ำเงิน สีแดง สีม่วง


วรรณะของสี     
วรรณะเย็น มี สีเขียว สีเขียวฟ้า สีฟ้า สีน้ำเงิน สีน้ำเงินม่วง สีม่วง ...
วรรณะร้อน มี สีเหลือง สีเหลืองส้ม สีส้ม สีส้มแดง สีแดง สีแดงม่วง ...




เด็กๆ ชอบที่จะจินตนาการมากทั้งๆ ที่วาดได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ผู้ใหญู่ก็ต้องคอยบอกชี้แนะ หรืออาจจะค้นคว้าจากหนังสือมาดูเพื่อเป็นแบบอย่าง บางครั้งการวาดรูปจากแบบในหนังสือจะได้รายละเอียดของสิ่งที่เราต้องการมากกว่า





พยายามหากระดาษวาดภาพแผ่นใหญ่จะทำให้ได้อารมณ์การวาดและความสนุกตื่นเต้นมากโดยเฉพาะเป็นการสร้างสมาธิที่ดีมาก  เพราะฉะนั้นการร่างภาพก็ต้องเป็นภาพที่ค่อนข้างโตชัดเจน จึงแนะนำให้ใช้สีน้ำทั้งภาพ หรืออาจจะใช้สีน้ำเป็นส่วนประกอบก็ได้ถ้าเราใช้สีชอล์ก ระบายเป็นตัวภาพและสีน้ำเป็นพื้นหลัง เพื่อที่งานจะได้สำเร็จเร็วขึ้น ไม่ใช้เวลานานเกินไป เด็กจะเกิดอาการเบื่อซะก่อนที่ผลงานจะสำเร็จ

วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

มาเป่าสีกันเถอะ

มาเป่าสี...หรือการพ่นสีลงบนภาชนะ เราเลือกภาชนะที่หาง่ายๆ ก็คือ กระดาษนั่นเองจะเป็นกระดาษวาดเขียน กระดาษที่จะมาประกอบกล่อง หรือกล่องกระดาษสีขาว ก็ได้

 ส่วนประกอบการสร้างงาน หัวใจสำคัญคือ หลอดกาแฟ ที่จะช่วยไล่สีให้ไหลไปไกลๆ หรือตามทิศทางที่เราต้องการได้ดีที่สุด 



และสีที่เราจะนำมาใช้ก็คือ สีน้ำควรผสมอย่าให้ข้นเกินไปเดี๋ยวจะเป่ายากและก็แห้งช้า แต่ก็ไม่ควรผสมสีให้ใสจนเกินไปอีเพราะเวลาที่สีแห้งผลงานออกมาสีจะไม่สดใส




เพราะฉะนั้นการเป่าสีแต่ละครั้งผลงานจะออกมาไม่เหมือนกัน แต่อาจจะใกล้เคียงกันก็เป็นได้



เวลาเป่าสีนั้น การยืนจะเป็นวิธีที่ดี ทำให้มีลมออกจากหลอดได้สม่ำเสมอ และสามารถจับหลอดให้เคลื่อนไหวไปได้รอบทิศทางบนกระดาษ


ตัวอย่าง แบบกระดาษที่จะนำมาเป่าสีลงไป




เด็กๆ จะสนุกและมีความสุขกับการได้สร้างผลงานด้วยมือของตนเอง

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

บีบสีสร้างภาพ




การบีบสีและเป่าสี เป็นกิจกรรมที่สมัยเด็กๆ ได้ทำมานานแล้วไม่ว่าจะสมัยไหนก็เคยทำ เป็นการใช้เนื้อสีที่บีบออกมาจากหลอดสีบีบลงบนกระดาษวาดเขียนสีขาว


วางสีใกล้เคียงกันหลังจากนั้นก็พับกระดาษสัก 3 ครั้งให้แถบข้างชนกันค่อยๆ พับ ใช้มือรีสีบนกระดาษ ระวังอย่าสีแล็บออกนออกกระดาษนะคะ แล้วก็คลี่ออก จะเห็นการผสมของสีที่สวยงามมาก ซึ่งแล้วแต่การมองของเรา 


หลังจากนั้นก็ใช้กรรไกรตัดตามขอบของภาพ เว้นสีขาวตรงขอบเอาไว้ภาพ เพื่อที่ภาพจะเด่นขึ้นมา
เมื่อเรานำมาติดบนกระดาษสีโปสเตอร์ที่มีสีเข้ม 



 เราสามารถใส่รายละเอียดประกอบรอบๆ ภาพที่เราติดได้นะคะ แต่อยากให้วาดเป็นลายเส้นเล็กๆ อย่าเยอะนะ เดี๋ยวจะดูรกเกินไป หลังจากนั้นเราจะเจาะรู 2 รู เพื่อร้อยเชือกแล้วแขวนตามผนัง



วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

ลวดลายกระถาง

Hand Craft ครั้งนี้ เป็นกระถางใบเล็กมีขายตามร้านต้นไม้ หรือจะหาซื้อแถวปากเกร็ดก็ได้เพราะเป็นแหล่งเผากระถางเยอะมากค่ะ

 

สามารถทำได้ทุกช่วงวัยเลยค่ะ...


 เริ่มโดยนำกระถางมาทาสีขาวทั้งภายในและภายนอก หรือจะไม่ทาก็ได้ สีขาวที่ใช้คือ สีพลาสติกทาบ้านนี่เอง เพื่อที่เวลาวาดภาพแล้วเห็นชัดมากขึ้น และการลงสีภาพจะระบายได้ง่ายขึ้น


 การออกแบบลวดลายถ้าเป็นเด็กเล็ก อายุประมาณ 4-5 ขวบ จะวาดเป็นเรื่องราวค่อนข้างยาก เพราะต้องยกกระถางวาดตลอดเวลา ควรจะให้ระบายเป็นโทนสีดีกว่า สีที่ใช้ลงวาดภาพนั้นจะใช้สีโปสเตอร์ ผสมแบบข้นพอดี ส่วนการเขียนลวดลายก็ใช้พู่กันเขียนเป็นลายเส้น อย่าลืมให้ความสำคัญของพู่กันด้วยนะคะ ในเรื่องของการระบายพื้น ส่วนใหญ่จะใช้พู่กันเบอร์ 9 -10 และถ้าทำลวดลายควรใช้เบอร์เล็กๆ เช่นเบอร์  6-7- 8


เมื่องานเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องพ่นเคลียร์ใสด้วยสัก 2 ครั้ง แล้วตากแดดตากลมให้แห้งสนิทด้วย จึงจะนำไปใช้งานได้ค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

กรอบภาพสร้างสรรค์

ผลงานในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้งหรือแนวนอนก็ได้ ก็สามารถสร้างสมาธิได้อีกหนึ่งผลงาน  สำหรับเด็กโต อายุประมาณ 9-12 ปี เป็นการทำงานที่ค่อนข้างปราณีตในการระบายสีสักหน่อย สีที่ใช้เป็นสีชอล์กเราจะระบายทั้งกรอบเฉพาะด้านหน้า


กระดาษที่ใช้ทำกรอบนั้นเป็นกระดาษแข็ง แล้วนำมาสีพลาสติกสีขาว ส่วนกรอบตรงกลางต้องใช้คัตเตอร์กีดออกเพื่อเป็นช่องสำหรับติดภาพถ่ายไว้ด้านหลัง



ร่างภาพด้วยดินสอบางๆ ให้เป็นเรื่องราวเป็นงานจินตนาการ




พยายามให้ระบายสีแน่นๆ สักหน่อยสีจะได้สดใส ดูสวยงาม
และก็อย่าลืมตัดเส้นสีดำด้วยสีชอล์กนะคะ




เมื่องานเสร็จสมบูรณ์ จะนำภาพมาฉีดสเปรย์เคลือบเงาประมาณ 2 ครั้ง ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วนำเขือกขาวมาผูกด้านหลังเพื่อไว้สำหรับแขวนผนัง



วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

ฉีก-ปะ กระดาษสีให้เกิดภาพ


เบื่อการวาดภาพก็มาฉีกกระดาษเล่นกันดีกว่า จะเป็นกระดาษหนังสือพิมพ์ขาว-ดำ หรือกระดาษสีก็ได้นะคะ ถ้าจะให้ฉีกง่ายก็ใช้กระดาษโปสเตอร์สีอย่างบาง หรือกระดาษลวดลาย กระดาษห่อของขวัญ  เด็กๆ คงจะชอบและสนุกกับผลงานอย่างมีสมาธิได้นานๆ นะคะ


เราคงไม่ปะ-ติดกระดาษสีทั้งหน้ากระดาษเลย เด็กๆ คงจะเบื่อน่าดู เอาเป็นว่าปะ-ติดเฉพาะรูปภาพ ส่วนพื้นหลังคงต้องใช้สีน้ำโปสเตอร์ช่วย จะได้ดูงานสำเร็จ และเสร็จทันเวลา...เรามาเริ่มเลยนะคะ

อุปกรณ์ได้แก่ กระดาษสีโปสเตอร์อย่างบาง กาวน้ำใสและสีโปสเตอร์


ก่อนอื่นร่างภาพเต็มหน้ากระดาษเลยควรร่างภาพให้โตใหญ่ชัดเจนจะง่ายสำหรับตัวเด็กเอง ไม่ควรเป็นเรื่องราวที่ซับซ้อนเพราะเราไม่ได้ระบายสีในตัวภาพ  เสร็จแล้วมาฉีกกระดาษสีให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วแยกใล่ภาชนะเป็นสีๆ อย่าปนกัน 


ต่อไปก็เทกาวน้ำใส่ถ้วย จะทากาวโดยใช้พู่กันเบอร์ใหญ่แต่ต้องสะอาด ทากาวลงบนภาพแล้วก็นำกระดาษสีที่ฉีกไว้ปะลงไปเลยตามรูปร่างภาพที่เราร่างเอาไว้ ใช้พู่กันเกลี่ยกระดาษสีโดยให้กระดาษวางเข้าโค้งหรือมุมตามรูปร่างของภาพ โดยให้เด็กๆ ได้จินตนาการตามใจตัวเอง และเมื่อปะ-ติดตามรูปร่างแล้วอย่าลืมทากาวทับลงบนกระดาษสีอีกครั้งให้ทั่วเพื่อที่กระดาษสีที่เราปะ-ติดจะได้เรียบและเงา


ส่วนพื้นหลังภาพเราไม่ได้ปะ-ติด ก็ใช้สีโปสเตอร์มาระบายสีพื้นหลังให้เกิดเรื่องราวหรือระบายแบบความถนัดของเด็กๆ เอง



ตัวอย่าง ของเด็กๆ อายุประมาณตั้งแต่ 6 - 10 ขวบ